ฉนวนกันความร้อน ชนิดต่างๆ
ฉนวนกันความร้อนนั้น มีหน้าที่เพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อน ในงานระบบประกอบอาคาร จะมีอยู่ 2 งานหลัก ที่จะต้องใช้ฉนวนเพื่อห่อหุ้มท่อเอาไว้
1. ท่อน้ำร้อน
2. ท่อน้ำเย็น
ในกรณีของท่อน้ำเย็น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะต้องหุ้มฉนวน เนื่องจาก น้ำเย็นที่วิ่งอยู่ภายในท่อนั้น มีอุณหภูมิ โดยประมาณ 7-12 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิต่ำกว่าจุดกลั่นตัว หากเราไม่หุ้มฉนวน จะเกิดน้ำเกาะบริเวณผิวท่อ และหยดลงฝ้าเพดาน เกิดความเสียหายในอนาคต และนอกจากจะต้องหุ้มฉนวนแล้ว ยังจะต้องหุ้มให้ได้ความหนาตามที่กำหนด(1.5 – 2 นิ้ว) เพื่อป้องกันเกิดการกลั่นตัวของน้ำ
ในส่วนของท่อน้ำร้อน ในปัจจุบัน จะใช้ท่อเขียวคาดแดง ชื่อเป็นทางการ ท่อ Polypropylene (PP-R) ค่าฉนวนกันความร้อน หรือค่า K ( Thermal Conductivity) ของท่อชนิดนี้ จะมีค่าอยู่ที่ 0.15 w/m.k ซึ่งค่านี้ หากยิ่งน้อยมากๆ จะยิ่งป้องกันความร้อนได้ดี การป้องกันความร้อนสูญเสียมีสองส่วน คือ ค่าฉนวนกันความร้อน และ ความหนาของฉนวน ซึ่งในกรณีท่อ PPR นั้น ตัวผิวท่อ จะมีความเป็นฉนวนในระดับหนึ่ง ดีกว่าท่อโลหะทุกชนิด ดังนั้น จึงหุ้มฉนวนหรือไม่หุ้มก็ได้ ขึ้นอยู่กับ ความต้องการของผู้ออกแบบ ซึ่งหากเราหุ้มฉนวน ก็จะสามารถป้องกันความร้อนสูญเสียเพิ่มขึ้นไปอีก สามารถช่วยประหยัดลดพลังงานได้ โดยฉนวนที่นิยมจะใช้ในปัจจุบันเป็นฉนวนยางดำ มีค่ากันความร้อนดีมาก (0.035 w/m.k) แต่เมื่อเทียบกัน ระหว่าง ค่าใช้จ่ายการหุ้มฉนวน กับ พลังงานที่สูญเสียไปแล้วนั้น อาจยอมรับได้ เนื่องจาก ท่อที่เดินภายในอาคาร ส่วนมากจะอยู่ภายในพื้นที่ปิด ทั้งภายในผนัง และ ใต้ฝ้าเพดาน มีการเคลื่อนที่ของอากาศน้อย ส่งผลทำให้ ความร้อนสูญเสียมีน้อยด้วยเช่นกัน ถึงอย่างไรก็ดี ท่อที่มีการหุ้มฉนวน ย่อมดีกว่าในแง่ของการประหยัดพลังงาน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และ จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่นั้น อยู่ที่ท่านผู้ใช้ จะเป็นผู้ตัดสินใจ