ฮีทปั๊ม ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำได้อย่างไร
หม้อไอน้ำ มีหลักการทำงาน คือ เผาไหม้ เชื้อเพลิงเกิดเป็นพลังงานความร้อน ถ่ายเทสู่น้ำ จนน้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำ ในส่วนของประสิทธิภาพเครื่องจักรนั้น ในกรณีหม้อไอน้ำใหม่ จะมีประสิทธิภาพโดยประมาณ 85% และเมื่อมีอายุการใช้งานและมีการบำรุงรักษาหม้อไอน้ำอย่างสม่ำเสมอจะมีประสิทธิภาพ อยู่ที่ 75%- 80%
ในส่วนฮีทปั๊มมีหลักการทำงาน คือ จ่ายไฟฟ้าให้อุปกรณ์ในวงจรสารทำความเย็น เกิดการแลกเปลี่ยนพลังงานความร้อน จากอากาศสิ่งแวดล้อม ถ่ายเทสู่น้ำ มีประสิทธิภาพเครื่องจักร 380% - 420%
เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่แตกต่าง กันเกือบ 5 เท่า เราจึงหาวิธีในการจะนำเครื่องจักรทั้งสองประเภท มาทำงานร่วมกัน โดยในวันนี้ ผู้เขียน ขอยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันของฮีทปั๊ม และ หม้อไอน้ำชนิดเชื้อเพลิง LPG
ขั้นตอนการทำ ในระบบหม้อไอน้ำ เมื่อผลิตไอน้ำไปใช้งาน จะมีไอน้ำส่วนหนึ่งหมุนเวียนกลับมาใช้งานใหม่ นั่นคือ น้ำคอนเดนเสท และจะมีไอน้ำสูญหายในระหว่างใช้งานส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีน้ำหายไป จึงต้องมีการเติมน้ำเพิ่มเข้าไปในระบบ โดยปกติแล้ว เราจะต้องเติมน้ำที่ผ่านการทำเป็นน้ำอ่อนอุณหภูมิปกติ เข้าสู่ระบบ ดังนั้น เราจึงใช้ฮีทปั๊ม อุ่นน้ำ ที่จะเติมเข้าระบบจาก อุณหภูมิปกติเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 60 องศาเซลเซียส (PREHEAT BOILER) นั่นหมายถึง เราจะได้ใช้ความได้เปรียบของประสิทธิภาพฮีทปั๊ม ที่สูงกว่าหม้อไอน้ำ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานค่าเชื้อเพลิง LPG ภาพรวมได้มากถึง 30%**
และในบางโครงการ ได้ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ระหว่างไอน้ำหมุนเวียนกลับ หรือ น้ำคอนเดนเสท (อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส)กับน้ำเย็น เพื่อผลิตน้ำร้อนใช้ภายในระบบอาคาร ซึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ในทางกลับกัน หากเราใช้ฮีทปั๊ม ในการผลิตน้ำร้อนสำหรับใช้ภายในอาคารโดยตรง จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำร้อน ถูกกว่า การใช้ไอน้ำ จากหม้อไอน้ำ
จากกรณีตัวอย่าง เราจะพบว่า แม้จะต้องลงทุนฮีทปั๊มเพิ่มเติมจากระบบหม้อไอน้ำ แต่เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่สูงของเครื่องจักร จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ในระยะยาว
**การคำนวณ ผลประหยัดพลังงาน ภาคทฤษฎี
สมมุติ พลังงานที่ใช้ในการทำความร้อนน้ำ = 1,000,000 kCal
จากสมการ
ประสิทธิภาพเครื่องจักร (η) = สิ่งที่ได้รับ (OUTPUT)
จำนวนเชื้อเพลิง x ค่าคงที่ความร้อน (INPUT)
กำหนดค่า
ประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ = 80%
ประสิทธิภาพฮีทปั๊ม = 380%
ค่าคงที่ความร้อนไฟฟ้า - 860 กิโลแคเลอรี่/กิโลวัตต์
ค่าใช้จ่ายไฟฟ้า = 4 บาท/กิโลวัตต์
ค่าคงที่ความร้อน LPG = 11,600 กิโลแคเลอรี่/กิโลกรัม
ค่าใช้จ่าย LPG = 21 บาท/กิโลกรัม
จำนวน LPG ที่ใช้ (kg) = 1,000,000 (kCal)
80 % x 11,600 kCal/kg
= 107.8 กิโลกรัม
คิดเป็นมูลค่า = 2,263.8 บาท
หากใช้หม้อไอน้ำ ในการผลิตความร้อน 1000000 กิโลแคเลอรี่ จะต้องใช้เชื้อเพลิง LPG จำนวน 107.8 กิโลกรัม
คิดเป็นมูลค่า 2,263.8 บาท
จำนวนไฟฟ้าที่ใช้ (kW) = 1,000,000 (kCal)
380% x 860 kCal/kw
= 306 กิโลวัตต์
คิดเป็นมูลค่า = 1,224 บาท
หากใช้หม้อฮีทปั๊ม ในการผลิตความร้อน 1,000,000 กิโลแคเลอรี่ จะต้องใช้ไฟฟ้า จำนวน 306 กิโลวัตต์
คิดเป็นมูลค่า 1,224 บาท
จะเห็นได้ว่า ในการผลิตความร้อน 1,000,000กิโลแคเลอรี่ ฮีทปั๊ม สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ได้ มากถึง 1,039.8 หรือ เทียบเท่า 45%